เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 พร้อมทั้งภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ลดปัญหาขยะทะเล ในวันทะเลโลก World Ocean Day ประจำปี 2565 ณ พระเจดีย์กลางน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง ภายใต้แนวคิด “Revitalization: Collective Action for the Ocean” รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกแก่บุคคลทั่วไปให้มีส่วนร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้ ยังได้เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แนวใหม่ของระยอง บริเวณป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำและศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบจัดการขยะครบวงจร ณ สวนสาธารณะโขดปอ เพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทางทะเล เน้นความสนุกสนาน ควบคู่การเรียนรู้ธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ และมีส่วนร่วมในการจัดการขยะทางทะเล
หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดการปัญหาขยะทะเลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนสามารถขยับอันดับจากประเทศที่มีขยะทะเลสูงอันดับ 6 เป็น อันดับ 10 ของโลกในปี 2563 อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาขยะทะเลจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน คือ เริ่มตั้งแต่การจัดการขยะอย่างเหมาะสมที่ต้นทาง การป้องกันขยะจากบกไหลลงสู่แหล่งน้ำ รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งการแก้ไขเพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดนั้น ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนและปลูกฝังพฤติกรรมการคัดแยกและทิ้งขยะอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณชุมชนริมน้ำ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชน
นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า “SCGC ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยกว่า 20 ปีที่ SCGC ได้ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ในการดูแลชายฝั่งทะเลระยอง และขับเคลื่อนภารกิจพิทักษ์ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนานวัตกรรม และการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเริ่มจากการจัดการขยะบนบกให้ถูกต้องตามวิถีชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ - ป้องกันขยะหลุดรอดลงสู่ทะเลด้วยนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ – เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วยนวัตกรรมบ้านปลา SCGC ซึ่ง SCGC พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาขยะทะเลแบบบูรณการ”
สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ร่วมเดินทางในเส้นทางธรรมชาติแห่งใหม่นี้ นอกจากจะได้รับความสนุกสนาน และสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติป่าชายเลนและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยโดยรอบแล้ว ยังจะได้พบประสบการณ์ใหม่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ได้เห็นถึงกระบวนการจัดการขยะทะเลตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งนวัตกรรมเพื่อพิทักษ์ท้องทะเลไทยต่าง ๆ เช่น นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำจาก SCGC x DMCR ซึ่งได้ติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำระยองที่เชื่อมต่อกับทะเล เพื่อป้องกันขยะไม่ให้เล็ดลอดไหลสู่ทะเล
สำหรับวันทะเลโลก World Ocean Day ประจำปี 2565 ณ พระเจดีย์กลางน้ำ อ.เมือง จ.ระยอง ภายใต้แนวคิด “Revitalization: Collective Action for the Ocean” รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทรเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานั้น SCGC ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าลดปัญหาขยะทะเลและเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศ พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล อาทิ กิจกรรมเก็บขยะแม่น้ำระยอง โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมคัดแยกขยะและนำไปจัดการในระบบต่อไป กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ ปลากะพง 100,000 ตัว ปูดำ 200 ตัว และปลาตีน 100 ตัว ในบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้คงความสมบูรณ์ในพื้นที่ต่อไป
สำหรับผู้สนใจการเดินทางของพระเอกหัวใจรักษ์โลก ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี สามารถรับชมคลิป “เพราะทะเลเป็นของเราทุกคน รักษ์ทะเล เพื่อทะเลของเรา” ได้ที่ https://www.facebook.com/DMCRTH/videos/1188582181896705/?extid=NS-UNK-UNK-UNK-AN_GK0T-GK1C&_rdc=1&_rdr
เกี่ยวกับนวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ SCGC เป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมจาก SCGC ที่ช่วยป้องกันขยะจากแม่น้ำไม่ให้เล็ดลอดลงสู่ทะเล ด้วยการใช้กลไกจากอิทธิพลของกระแสน้ำ จนสามารถได้รับการจดอนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาสิ่งประดิษฐ์ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งอุปกรณ์หนึ่งชุดสามารถกักเก็บขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัมต่อวัน ปัจจุบันติดตั้งแล้วทั้งสิ้น 47 ชุด ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถกักขยะได้กว่า 71 ตัน (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2564 ) นอกจากนี้ยังออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืน วัสดุหลักผลิตจากพลาสติกเกรดพิเศษ HDPE จาก SCGC ที่ทนต่อรังสียูวีและสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย อายุการใช้งานยาวนาน 25 ปี สามารถนำกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
เกี่ยวกับนวัตกรรมบ้านปลา SCGC เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้าน จึงริเริ่มโครงการบ้านปลา SCGC ขึ้นเมื่อปี 2555 โดยนำท่อ PE 100 ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูปภายในโรงงานมาสร้างเป็นบ้านปลาฯ ตามหลัก Circular Economy โดยร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 และกลุ่มประมงพื้นบ้าน สร้างและจัดวางบ้านปลา พร้อมเก็บข้อมูลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (ณ มิถุนายน 2565) ได้วางบ้านปลาฯ ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราดและระนอง จำนวนกว่า 2,240 หลัง รวม 43 กลุ่มประมง สร้างพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 50 ตารางกิโลเมตร สร้างการมีส่วนร่วมจากจิตอาสาทั่วประเทศกว่า 23,000 คน เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลกว่า 174 ชนิด