ความคืบหน้าผลสำเร็จ “ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร” (MRF) แห่งแรกของไทยที่ดำเนินการโดยชุมชน ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการต่อตั้งจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ซึ่งภายหลังที่ได้เปิดทำการได้ 1 ปี พบว่า สามารถช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ
เพิ่มรายได้เสริมให้คนในชุมชน อีกทั้งช่วยสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะในชุมชน และลดประมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
“ขยะ” ซึ่งรวมถึงพลาสติกใช้แล้วเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง สำหรับหลายชุมชน รวมถึงในพื้นที่ อ. บ้านฉาง จ. ระยอง ซึ่งเป็นเมืองลูกผสม คือ เป็นทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมและมีพื้นที่การเกษตรรวมอยู่ด้วยกัน ขณะที่เมืองก็มีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร” (Material Recovery Facility - MRF) ที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง โดย ศูนย์ MRF แห่งนี้ เป็นโมเดลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย
ในการก่อตั้งศูนย์ดังกล่าว หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในฐานะองค์กรสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ร่วมกับ กองทุน Dow Business Impact Fund โดย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ให้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในการจัดตั้งศูนย์ MRF ดังกล่าว รวม 20 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับความร่วมมือจาก สถาบันพลาสติก หน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และสมาชิกในชุมชน
ศูนย์ MRF แห่งนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2566 และเริ่มดำเนินงานเต็มรูปแบบในปี 2567 มีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาพลาสติกใช้แล้วและวัสดุรีไซเคิลเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยตั้งเป้าจัดการขยะที่จะเป็นภาระในการกำจัดสู่หลุมฝังกลบ ปีละกว่า 1,000 ตัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่า 2,400 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และมีแผนที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงเดือนตุลาคม 2567 มีการจ้างงานคนในชุมชนแล้ว 6 อัตรา มีสมาชิกศูนย์แล้วกว่า 500 คน เกิดรายได้กับชุมชนที่เป็นสมาชิกแล้วกว่า 100,000 บาท
สำหรับกระบวนการดำเนินงานของศูนย์ MRF นั้น จะเริ่มจากการนำวัสดุรีไซเคิลมาเข้าสู่การคัดแยกโดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยตลอดกระบวนการ เช่น ระบบเซ็นเซอร์ในการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลแต่ละประเภท โดยเฉพาะพลาสติก เครื่องเรียงขวดกึ่งอัตโนมัติเพื่อคัดแยกวัสดุรีไซเคิลประเภทขวดและกระป๋องโลหะ ตู้อัจฉริยะรวบรวมวัสดุเพื่อนำไปรีไซเคิล และเครื่องซักล้างถุงพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเมื่อคัดแยกประเภทอย่างมีคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ก็จะทำการส่งต่อให้กับธุรกิจโรงงานรีไซเคิลต่อไป
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “บพข. ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ MRF โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการดำเนินการ เพื่อนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ให้ได้มากและนานที่สุด ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจของชุมชน ผ่านความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แบบครบวงจรอีกด้วย”
นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า “ปัจจุบันนี้คนในชุมชนมีความตระหนักว่าขยะมีมูลค่า สามารถขายได้ จึงมีการช่วยกันคัดแยกขยะอย่างถูกต้องตั้งแต่ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น เมื่อพฤติกรรมการทิ้งขยะเปลี่ยนไป ขยะในพื้นที่ก็ลดน้อยลง ทำให้สามารถนำวัสดุเหลือใช้ไปรีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งนอกจากรายได้จากการคัดแยกขยะ ในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะมีรายได้จากการเยี่ยมชมศูนย์โดยคณะต่าง ๆ เช่น ค่าวิทยากรและค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะสามารถเป็นแผนต้นแบบขยายสู่พื้นที่อื่นๆ หรือระดับประเทศได้”
โดยสรุปแล้ว งบประมาณสนับสนุนจากกองทุน บพข. ได้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาขยะในชุมชนบ้าน-ฉางอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม คือ ส่งเสริมให้คนในชุมชนคัดแยกขยะจากครัวเรือน ช่วยลดปริมาณขยะ และเกิดการรวมกลุ่มของคนที่ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้านเศรษฐกิจ คือ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกชุมชนจากการซื้อขายขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ และ เกิดการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน