โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม จากนายกรัฐมนตรี
12 กุมภาพันธ์ 2567 - นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีมอบ รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (BLCP) รับมอบโล่รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม ประจำปี 2566 (The Prime Minister's Industry Award 2022 For an Outstanding Achievement in Corporate Social Responsibility) ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ เพื่อเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม 44 องค์กรต้นแบบทั่วประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรม ด้วยการนำ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” มาใช้ในการประกอบกิจการ รวมถึงพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ ยกระดับขีดความสามารถในแข่งขัน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
สำหรับโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทำให้ BLCP ได้รับรางวัล คือ โครงการ ดินผสมปลูก ซึ่งจุดเด่นของโครงการนี้ คือการใช้หลักการจัดการของเสีย (waste management) ร่วมด้วยหลัก BCG Model ได้แก่ หลักเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) และ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ในการนำเศษใบไม้ มูลสัตว์ และ น้ำหมักอินทรีย์ที่ได้จากโครงการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสนับสนุนโดยโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี นำมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม ลดระยะเวลาการหมักจากเดิม 90 วัน เหลือ 45 วัน ซึ่งสามารถนำดินผสมปลูกมาใช้ได้ทันที ช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และชุมชนในการกำจัดเศษใบไม้ เป็นโครงการที่เกิดจากการทดลองทำในโรงไฟฟ้าและประสบผลสำเร็จ ต่อยอดไปยังชุมชน สร้างเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมกัน ได้แก่เทศบาล และโรงเรียน ถือเป็นกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจ ตามหลักการ ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และ (Environment, Social, Governance; ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลองค์กร) และเน้นมาตรการและกลไกมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติตามกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรม สีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง (กระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน)
บีแอลซีพี มุ่งพัฒนาพลังงานที่มั่นคง เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน