ดร.สิรินันท์ ศรีวีระสกุล ผู้จัดการ-ผู้อำนวยการโรงงานปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กล่าวว่า “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ผู้จัดการแข่งขัน และผู้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ฯ นำความปลาบปลื้มสู่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่จะมีโอกาสได้ครองถ้วยพระราชทาน เพื่อเป็นเกียรติประวัติต่อตนเองและสถานศึกษา”
รางวัล Winning Alliance Award (ชนะเลิศ) ได้แก่ ทีม Ezreal จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ และทีม CKK Robot Senior จากโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ป้ายประกาศเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศ เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง FTC พร้อมทุนการศึกษาทีมละ 10,000 บาท
รางวัล Finalist Alliance Award: 1st Runner Up (รองชนะเลิศอันดับที่ 1) ได้แก่ ทีม BEN2ROBOT จากโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 จ.ฉะเชิงเทรา และทีม Sparkle จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับถ้วยรางวัล ป้ายประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร เหรียญเงิน FTC พร้อมทุนการศึกษาทีมละ 5,000 บาท
รางวัล Finalist Alliance Award: 2nd Runner Up (รองชนะเลิศอันดับที่ 2) ได้แก่ ทีม CKK-Robot Junior จากโรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน และทีม TRANSFINITY จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ได้รับถ้วยรางวัล ป้ายประกาศเกียรติคุณ เกียรติบัตร เหรียญทองแดง FTC พร้อมทุนการศึกษาทีมละ 2,500 บาท นอกจากนี้ มีรางวัลพิเศษอีก 12 รางวัล และผู้เข้าร่วมการแข่งขันยังได้รับเหรียญรางวัลและเกียรติบัตรทุกคน
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยทำงานคิดค้นนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมอยู่ทั่วโลกมากกว่า 7,000 คน เราจึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย เพราะจะเป็นรากฐานของการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้ร่วมสนับสนุน เวที FIRST® Tech Challenge THAILAND ที่มุ่งส่งเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมและพัฒนาหุ่นยนต์ เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำ และได้ฝึกใช้แนวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยพัฒนาฝึกทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น และจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคต”
การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ในระบบ “สะเต็ม” หรือ STEM Education ซึ่งประกอบด้วย 4 สาขาวิชาหลัก คือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) นำมาสู่การพัฒนาเยาวชนให้มี ทักษะ กระบวนการคิด การแก้ปัญหา การออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง โดยในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อภารกิจในด้านการขนส่งให้ผู้เข้าแข่งขันแก้ไขโจทย์ที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นมา เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ในการฝ่าด่านและอุปสรรคในระบบการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่เด็ก ๆ ได้ออกแบบขึ้นเองนี้มีโอกาสที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อการผลิตหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์ใช้ในระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยได้ต่อไป
“แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด ก็ยังมีนักเรียนให้ความสนใจในการสมัครเข้ามาถึง 19 ทีม และได้ทำการแข่งขันจนได้ผู้ชนะทั้งหมดโดยมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของความร่วมมือครั้งนี้” ดร.สิรินันท์ กล่าว